บวชพระ

เมื่อเด็กชายอายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ก็ถือว่าเข้าเขตวัยผู้ใหญ่ จะต้องมีความรับผิดชอบที่
จะครองตน และสร้างหลักฐานต่อไป จึงจำเป็นต้องมีความรู้ถึงความจริงในโลกที่เต็มไปด้วยอารมณ์
ต่างๆ ซึ่งจะเกิดจากสุข ทุกข์ การบวชพระ จะเป็นการรักษาอารมณ์ที่จะทำให้มนุษย์ไปสู่ทางที่ดี
การบวช คือ เมื่อตกลงกันว่าจะเป็นพระแล้ว ผู้ใหญ่ บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ที่จัดการ
ให้ผู้จะบวชนำดอกไม้ ธูปเทียน แพ ใส่พานไปบอกกล่าวผู้ที่นับถือหรือวงศาคณาญาติเรียกกันว่าไป
"ลาบวช" การจัดงานบวชของคนไทยโดยทั่วไปก็จะจัดก่อนวันบวช ๑ วัน เรียกว่าวันสุกดิบ วันนี้จะ
มีการทำขวัญนาค ผู้บวชจะโกนหัว โกนคิ้ว โกนหนวด ตัดเล็บ นุ่งผ้าด้วยเครื่องแต่งกายที่งดงามมี
แก้วแหวนเงินทองต่าง ๆ อันแสดงถึงสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อทางโลก นุ่งจีบด้วยผ้ายกทอง ใส่เสื้อครุยปักทอง
สไบเฉียงทางไหล่ซ้าย คาดเข็มขัดหัวเพชร ใส่แหวนครบ ๘ นิ้ว ตัวนาคจะนั่งหน้าโต๊ะบายศรีตามพิธี
พราหมณ์ ผู้เฒ่าก็จะตั้งต้นอ่านคำทำขวัญนาคเป็นทำนอง มีเนื้อความอธิบายถึงชีวิตคนตั้งแต่แรกเกิด
มีพ่อแม่บำรุงเลี้ยงดูด้วยความยากลำบากจนถึงเป็นผู้ใหญ่ พ่อแม่มีความปรารถนาให้ลูกเป็นคนดี บัดนี้
ก็สมใจแล้วที่เจ้านาคจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา นับเป็นความดีอันสูงสุดที่จะเป็นมงคลต่อชีวิตตน
ต่อไป
เมื่อวันรุ่งขึ้นเป็นวันบวช นาคก็จะแต่งตัวเหมือนวันทำขวัญนาค บางคนก็ขึ้นหลังม้าตามแบบ
พระศาสดาออกบวช เข้าขบวนแห่มี ไตร บาตร บริขาร ๘ ดอกไม้ ธูป เทียน พร้อมด้วยวงศาคณาญาติ
ไปวัด พอถึงวัดบิดาหรือผู้ปกครองของนาคก็จะจูงแขนเข้าโบสถ์ เป็นการแสดงความยินดีชื่นชมแล้วส่ง
ไตรครองให้นาค นาครับไตรแล้วจะนำไตรไปถวายอุปัชฌาย์ และกราบลง ๓ หน ถวายดอกไม้ธูปเทียน
แล้วกล่าวคำของบรรพชาคือ บวชเณร ( พระที่บวชเป็นสงฆ์จะต้องบวชเป็นเณรมาก่อนเพื่อจะได้รู้และ
คุ้นเคยกับคติของวัด ) ผู้เป็นเณรแล้วก็บวชพระได้เลย