การรับประทานอาหารในงานใด ๆ ก็ตาม ถือเป็นมารยาทที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องและพึงระมัดระวัง
เพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง และเสริมบุคลิกภาพ การร่วมรับประทานอาหารในงานเลี้ยงควรปฏิบัติ
ดังต่อไปนี้

 การรับประทานอาหารแบบตั้งโต๊ะ ซึ่งมี ๒ แบบ คือ เลี้ยงแบบอาหารไทยที่มีอาหารตั้งบนโต๊ะเอา
ไว้เรียบร้อยแล้ว และแบบที่ค่อย ๆ ทยอยส่งจนหมด เช่น อาหารจีน หรืออาหารฝรั่ง ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

     ๑.  ถ้าไปในงานไม่ได้ ก็ควรแจ้งให้เจ้าภาพทราบล่วงหน้า เพื่อเจ้าภาพจะได้รู้จำนวนแขก
          ที่มาในงาน แต่โดยทั่วไปควรจะบอกก่อนวันงานไม่ว่าจะไปได้หรือไม่ก็ตาม
     ๒.  ตระเตรียมเครื่องแต่งตัวไปในงานให้พร้อม
     ๓.  ควรจะไปก่อนงานเริ่มสัก ๑๐ นาที ไม่ควรไปเร็วหรือช้ากว่านั้น เพราะจะทำให้เจ้าภาพลำบากใจ 
     ๔.  ควรทักทายพบปะกับเจ้าภาพเมื่อไปถึงในงาน แม้เจ้าภาพจะยุ่งอยู่กับการต้อนรับคนอื่น เราก็ควร
          หาโอกาสไปทักทายในภายหลัง
     ๕.  ควรพยามยามพูดคุยทักทายกับแขกคนอื่น ๆ ที่มาในงาน แม้ไม่ใช่เพื่อนของเรา ถ้าถูกแนะนำให้ 
          รู้จักกับใคร ก็ควรจะพูดคุยกับคนนั้นหากไม่มีใครแนะนำก็ควรพูดคุยกับคนใกล้เราที่สุด
     ๖.  เวลาที่นั่งโต๊ะ ควรให้แขกผู้ใหญ่นั่งก่อน แล้วเราค่อยนั่งตาม สามี ภรรยา ไม่ควรนั่งโต๊ะติดกัน
    ๗.  เวลาเดินเข้าประจำโต๊ะ สุภาพบุรุษควรช่วยเหลือสุภาพสตรีที่นั่งข้าง ๆ ให้นั่งก่อนโดยการยกเก้าอี้
          เลื่อนให้เล็กน้อย สุภาพสตรีนั่งแล้วสุภาพบุรุษจึงค่อยนั่งตาม โดยสุภาพสตรีต้องนั่งทางขวาของ
          สุภาพบุรุษ
     ๘.  ก่อนนั่งโต๊ะควรงดสูบบุหรี่ แม้นั่งโต๊ะเรียบร้อยแล้วก็ไม่ควรสูบ เพราะมีสุภาพสตรีนั่งอยู่ข้าง ๆ
     ๙.  นั่งโต๊ะต้องนั่งตัวตรง อย่านั่งพิงเก้าอี้ เอนหลัง หรือค่อมหลังจนตัวงอ อย่านั่งชิด หรือห่างจาก
           เก้าอี้ หรือเอาเท้าวางบนเก้าอี้ เอาศอกวางบนโต๊ะ
   ๑๐.  อย่าอ่านหนังสือใด ๆ บนโต๊ะอาหารนอกจากรายการอาหาร
   ๑๑.  ผ้าเช็ดมือคลี่วางบนตัก
  ๑๒.  อย่าเล่นช้อนส้อมหรือผ้าเช็ดมือ
  ๑๓.  อย่ากางข้อศอกในเวลารับประทานอาหาร ศอกต้องแนบตัว
  ๑๔.  ถ้ามีสิ่งใดตก ไม่ต้องเก็บ ควรแจ้งให้คนเสริฟทราบ
  ๑๕.  เวลานั่งโต๊ะ คอยสังเกตให้ดีว่าอันไหนเป็นของเรา หรือเป็นของคนอื่น อย่าหยิบผิด
  ๑๖.  เวลารับประทานอาหารอย่าจับหรือแต่งผม ผัดหน้า ทาปาก
  ๑๗.  ช่วยเหลือเพื่อนร่วมโต๊ะตามสมควร
  ๑๘.  อย่าเอื้อมหยิบของผ่านหน้าผู้อื่น แต่ถ้าเพื่อนร่วมโต๊ะส่งให้ ก็ควรขอบคุณในไมตรีจิตของเขา
  ๑๙.  อย่าทำอะไรตกจากโต๊ะอาหาร แต่ถ้าตกแล้วก็ขอใหม่ อย่าเก็บของเก่า
  ๒๐.  หากทำอะไรผิดก็ปล่อยเลยตามเลย ไม่ต้องแก้ตัว
  ๒๑.  ดื่มน้ำด้วยมือขวา
  ๒๒.  อย่าจิ้มฟันในขณะรับประทานอาหาร ถ้าจำเป็นควรใช้มือป้อง
  ๒๓.  รับประทานอาหารเสร็จควรรวบช้อนส้อมไว้คู่กัน เขาจะได้รู้ว่าอิ่มแล้ว
  ๒๔.  ลุกจากโต๊ะเมื่อคนอื่น ๆ อิ่มแล้ว

 การรับประทานอาหารแบบตักเอง หรือที่เรียกว่าบุฟเฟ่ห์ ควรปฏิบัติดังนี้
  ๑.  ไม่ควรตักก่อนที่เจ้าภาพจะเชิญ
  ๒.  ไม่ควรตักอาหารจนล้นชามแล้วรับประทานไม่หมด
  ๓.  ไม่ควรตักของหวานหรือผลไม้เกินกว่าที่ตนจะรับประทานได้
  ๔.  เมื่อต้องการอาหารเพิ่มเติม ต้องใช้ช้อนกลาง ไม่ควรใช้ช้อนของตนตักอาหาร
  ๕.  เมื่อตนตักอาหารชนิดใดแล้ว ต้องให้โอกาสคนอื่นเข้าได้ตักบ้าง ไม่ควรยืนปักหลักอยู่ที่โต๊ะ
  ๖.  ไม่ควรลุกไปตักอาหารพร่ำเพรื่อจนเกินควร
 ๗.  รับประทานอาหารที่ตักมาให้หมด ไม่ควรเหลือทิ้งไว้บนจานมาก
 ๘.  เมื่อรับประทานอาหารเสร็จควรรวบช้อนส้อมเข้าคู่ด้วยกัน
 ๙.  เมื่อจะกลับควรลาเจ้าภาพและกล่าวคำขอบคุณ