ไข้หวัดนก



ที่มาของชื่อ “โรคไข้หวัดนก” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 ฮ่องกงได้แพร่ข่าวของเด็กชายคนหนึ่งอายุ 3 ปี ป่วยด้วยอาการทางระบบทางเดินหายใจและเสียชีวิตภายในเวลา 12 วันต่อมา จากประวัติเด็กคนนี้พบว่าได้สัมผัสกับไก่ป่วย ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2540 ซึ่งช่วงเวลานั้นมีการระบาดของโรค avian influenza ในฟาร์มไก่ 3 แห่ง ทำให้ไก่ตายไปประมาณ 4,500 ตัว ซึ่งไก่ที่ตายตรวจพบเชื้อไวรัส HPAI ชนิด H5N1 ส่วนผลการตรวจตัวอย่างที่เก็บจากเด็กขณะป่วยพบเชื้อไวรัส H5N1 ซึ่งเป็นชนิดที่พบในสัตว์ปีกเท่านั้น ไม่เคยพบในคนมาก่อน (ข้อมูลจาก Seminar “ไข้หวัดนกกับดักเศรษฐกิจตัวใหม่” เมื่อวันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2547 เวลา 13.30-16.30น. ณ ห้องสุธรรมอารีกุล ตึก 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กทม.) สื่อมวลชนในฮ่องกงเรียกชื่อโรคที่เด็กป่วยในครั้งนั้นว่า “Bird Flu” จึงทำให้สื่อมวลชนในประเทศไทยใช้คำว่า “ไข้หวัดนก” ประชาชนจึงเริ่มรู้จักคำว่า ไข้หวัดนก ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ทั้งๆ ที่ไม่พบโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย จนกระทั่งเมื่อเดือนตุลาคม 2546 มีข่าวไก่ป่วยตายจำนวนมากที่ จังหวัดนครสวรรค์ และแพร่ระบาดไปประมาณ 24 จังหวัด ในเบื้องต้นยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าไก่เป็นโรค Avian Influenza ชนิด H5N1 หรือไม่ จนกระทั่งประมาณหลายสัปดาห์ต่อมาจึงมีการยืนยันผลการชันสูตรอย่างเป็นทางการว่า ไก่เป็นโรคตายเนื่องจากติดเชื้อไวรัส Avian influza ชนิด H5N1 ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของไทยที่พบโรคไข้หวัดนก
สรุป
- ชื่อโรค “ไข้หวัดนก” มาจากการสื่อข่าวในประเทศไทยแปลมาจากคำว่า “Bird Flu” ซึ่งเรียกครั้งแรกที่ฮ่องกง ในปี 2540 โดยมีเด็กติดโรคนี้จากเชื้อไวรัส Avian influenza H5N1 ซึ่งระบาดในไก่ โรคนี้เริ่มเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยปี 2546
- การเกิดโรคไข้หวัดนกในประเทศไทยและฮ่องกง มีประวัติการเกิดโรคเป็นไปทำนองเดียวกัน คือ เริ่มต้นจากมีไก่ในฟาร์มป่วยตายเป็นจำนวนมาก แล้วโรคได้ติดต่อถึงเด็ก
ข้อคิด ที่อยากชักชวนท่านสมาชิกสัตวแพทย์สมาคมฯ ได้ไตร่ตรองเพื่อนำไปสู่ความเห็นที่เป็นเอกภาพ ซึ่งจะช่วยให้ข้อเท็จจริงออกไปสู่ประชาชนและเป็นที่ยอมรับน่าเชื่อถือในสังคมมากยิ่งขึ้น จึงขอเสนอประเด็นที่เป็นข้อสังเกตให้เพื่อนสมาชิกฯ ได้ร่วมกันพิจารณาดังนี้
1. โรค avian influenza (Fowl Plague) ที่เกิดระบาดกับสัตว์ปีกในประเทศ ตั้งแต่ปี 2546 เป็นโรคต่างถิ่น และที่ตรวจพบอย่างเป็นทางการนั้นเป็นชนิด H5N1 เท่านั้นยังไม่พบชนิดอื่นใด
2. ขณะนี้ทั่วโลกยอมรับว่าชนิด H5N1 ติดต่อสู่คนได้และเรียกว่าเป็นโรคไข้หวัดนก (Bird Flu) เป็นที่แน่นอนว่าในสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ H5N1 สัตวแพทย์ในประเทศไทยจึงจำต้องเรียกว่า โรคไข้หวัดนกเช่นกัน เพราะไม่เคยพบโรคนี้ในประเทศมาก่อนปี 2546 ดังนั้น จึงถือว่าเป็นโรคใหม่ และต้องยอมรับว่าสัตวแพทย์ไทยยังขาดประสบการณ์เกี่ยวกับโรคนี้
ประเด็นของชื่อโรคนี้มีข้อสังเกตว่า ถ้าหากเกิดการระบาดของไวรัสชนิด highly pathogenic avian influenza (HPAI) ชนิดใหม่เช่น H5N2 หรือ H7N2 กับสัตว์ปีกในประเทศทั้งๆ ที่ยังไม่ติดต่อสู่คน ท่านสมาชิกสัตวแพทย์ฯ จะเรียกสัตว์ปีกนั้นว่าเป็นโรค “โรค avian influenza” (ไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก) หรือจะยอมรับที่จะเรียกว่าสัตว์ปีกนั้นเป็น “โรคไข้หวัดนก” หรือจะต้องรอให้คนติดโรคไวรัสชนิดใหม่จากสัตว์ปีกก่อนถึงจะเรียกโรคในสัตว์ปีกนั้นว่า ไข้หวัดนกด้วย ที่ต้องทำความเข้าใจกับชื่อโรคนี้ เพราะประชาชนส่วนมากมักสับสน และมีข้อซักถามว่า นกที่บินอยู่ทั่วไปตามบ้านและท้องไร่ท้องนา ทำไมไม่ป่วยเป็นโรคระบาดตายมากมายเหมือนไก่ ทั้งๆ ที่เรียกกันว่าไข้หวัดนก และโอกาสที่คนจะติดโรคไข้หวัดนกมีมากน้อยเพียงไร (ผลการสำรวจตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเดือนตุลาคม 2547 ไม่พบเชื้อไข้หวัดนก ในนกท้องถิ่น 3 ชนิดจากข่าวทางโทรทัศน์ แต่ไม่มีการยืนยัน)
3. หลักฐานความรู้ของทางวิชาชีพสัตวแพทย์ (Aiello, et al. 1998. Zoonoses. In: The Merck Veterinary Manual 8th ed. National Publishing, Inc, Philadelphia, Pennsylvania pp.2161-2185.) ไวรัส Influenza ไทป์ A รวมทั้งที่เกิดกับม้าและสุกร เป็นโรคสัตว์สู่คน “Zoonoses” ไม่ว่าจะทำให้เกิดอาการรุนแรงหรือไม่รุนแรง เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจในโรคระบาดที่เป็นโรค Zoonoses ทั้งหลายที่สัตวแพทย์ควรที่จะรับผิดชอบเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจะช่วยป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดการตื่นกลัว จนเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุข และถ้าบังเอิญเกิดโรค Swine หรือ Pig Influenza ในฟาร์มสุกรจนอาจติดต่อสู่คน ก็ควรเตรียมเรียกชื่อโรคไว้เพื่อชี้แจงไม่ให้เกิดการสับสนในสังคมต่อไป
4. เป็นที่ทราบกันตามหลักฐานทางวิชาการ ว่านกเป็ดน้ำเป็นสัตว์รังโรค ไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกหรือไข้หวัดนก การอพยพของนกที่หากินในถิ่นของนกเป็ดน้ำ น่าจะเป็นพาหะสำคัญในการแพร่โรค การได้รับเชื้อไวรัสจนกระทั่งเกิดโรคได้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ อุณหภูมิ และสภาพร่างกายของสัตว์ เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2546 ที่ผ่านมามีดินฟ้าอากาศค่อนข้างแปรปรวน ทั้งความหนาวและมีฝนตก แต่มิได้มีรายงานข่าวยืนยันว่ามีนกอพยพมาจากทางตอนเหนือของประเทศ บินมาหากินแถวจังหวัดนครสวรรค์ ในช่วงเวลานั้นมีข่าวภายในที่พูดต่อๆ กันมาเท่าที่ทราบไก่ที่เลี้ยงตามฟาร์มแถวจังหวัดนครสวรรค์ เป็นโรคระบาดตายเป็นจำนวนมาก (นับพันๆ ตัว) โดยไม่ทราบสาเหตุ จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ทำไมจึงมีไก่ตายเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าเป็นโรคระบาดอย่างรุนแรงแล้วทำไมสัตวแพทย์ที่เป็นนักวิชาการ ในหลากหลายสถาบันจึงไม่รีบเร่งสอบสวนโรค และส่งข่าวให้ประชาชนได้ระมัดระวัง การรอพิสูจน์ผลทางวิทยาศาสตร์ ในสถานการณ์ที่มีสัตว์ตายจำนวนมากด้วยโรคระบาด ทำให้ไม่สามารถยับยั้งการระบาดของโรคได้ และถ้าเป็นโรค Zoonoses ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อประชาชนไปด้วย จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่ทางสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ น่าจะรับไปพิจารณาและเตรียมพร้อมสำหรับแผนการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์เช่นนี้ไม่ให้เกิดซ้ำอีกในครั้งต่อไป ไม่ว่าเกิดโรคต่างถิ่น และโรคสัตว์สู่คนอื่นๆ บทบาทของสัตวแพทย์สมาคมฯ จึงจะเป็นที่พึ่งของสังคมส่วนรวมมากยิ่งขึ้น
5. สาเหตุเบื้องต้นที่ไก่ป่วยตายจำนวนมากที่จังหวัดนครสวรรค์ ในปี 2546 ได้แนวคิดสาเหตุที่มาของการเกิดโรคเป็น 2 ประเด็นคือ
5.1 อาจติดต่อมาจากนกอพยพตามธรรมชาติสู่ไก่หรือสัตว์ปีกที่เลี้ยงตามบ้าน
5.2 ไก่เลี้ยงในฟาร์มเกิดโรคระบาดตาย และกำลังหาสาเหตุที่มาของการเกิดโรค
ประเด็นแรก หากสงสัยว่าที่ติดต่อมาจากนกอพยพตามธรรมชาติ ซึ่งตามปกติแล้วนกเหล่านั้นอพยพมาตามฤดูกาลทุกปี ก็น่าจะมีโรคไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกระบาดในประเทศไทยมานานแล้ว โดยเฉพาะในปี 2540 ที่มีการระบาดในฮ่องกง โอกาสที่โรคจะแพร่มากับนกตามธรรมชาติก็น่าจะนำเข้ามาตั้งแต่ปี 2540 เพราะฮ่องกงอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย
ประเด็นที่สอง กรณีไก่ฟาร์มเกิดโรคระบาดถ้าระบบการสอบสวนโรคมีประสิทธิภาพและทุกฝ่ายเปิดใจให้กว้างด้วยความจริงใจ ก็จะสามารถนำไปสู่การสันนิษฐานหาสาเหตุที่มาของโรคได้ จากประสบการณ์ที่พบในอดีตมีโรคต่างถิ่นเข้ามาระบาดในประเทศไทยหลายโรค เช่น โรคกัมโบโรในไก่เมื่อปี 2516, โรคเพลกในเป็ดเมื่อปี 2519, โรคไข่ลดในไก่เมื่อปี 2536 และโรคพาโวไวรัสในเป็ดเทศปี 2536 ฯลฯ โรคเหล่านี้มีหลักฐานทางวิชาการที่เป็นข้อมูลสนับสนุนการสันนิษฐานเพื่อหาสาเหตุแหล่งที่มาแทบทุกครั้ง ถ้าไม่สามารถหาสาเหตุหรือที่มาของโรคไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก (ไข้หวัดนก) ที่จังหวัดนครสวรรค์ในปี 2546 ได้ การคิดหาทางควบคุมป้องกันและกำจัดโรคนี้ให้หมดไปคงทำได้ยาก
การติดตามข่าวทางวิทยุและโทรทัศน์ ทราบว่าผลการสอบสวนการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกกับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเชื่อมโยงไปถึงการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งและไก่พื้นบ้านเป็นสาเหตุของการแพร่โรค ขณะเดียวกันก็มีข่าวไข้หวัดนกไประบาดในเสือ ทำให้เสือตายไปหลายตัว เพราะการเลี้ยงเสือใช้กระดูกไก่จากฟาร์มเป็นอาหารเสือ ดังนั้นการระบาดและแพร่เชื้อไข้หวัดนกที่เน้นเพียงเป็ดไล่ทุ่งและไก่พื้นบ้านเท่านั้นจึงเป็นการลงความเห็นที่ไม่เป็นธรรมพอสมควร
สถานการณ์ขณะนี้ต้องยอมรับว่าพื้นที่หลายจังหวัดเป็นแหล่งมีโรคระบาด (Epidemic area) ไก่บ้าน ไก่ชน ไก่เลี้ยงในฟาร์ม เป็ดไล่ทุ่ง มีโอกาสเป็นส่วนร่วมในการแพร่โรคได้ทั้งนั้น เพราะการจะไปหยุดยั้งไม่ให้เจ้าของสัตว์ปีกหยุดการเคลื่อนย้ายเป็นสิ่งที่ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะของที่เป็นผลประโยชน์ของใคร ใครก็รัก ถึงแม้ระบบควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์เป็นวิธียึดถือปฏิบัติค่อนข้างได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ก็เหมาะสมสำหรับควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น โค กระบือ เพราะยากต่อการเคลื่อนย้ายและตรวจพบได้ง่าย ส่วนในสัตว์ปีกการเคลื่อนย้ายทำได้ง่าย เพียงใส่กล่องกระดาษก็สามารถเล็ดรอดไปได้ การทำให้เจ้าของสัตว์ยอมรับและร่วมมือไม่เคลื่อนย้ายด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำให้มากที่สุด ถ้าต้องการให้เกิดผลดีในการควบคุมโรค ตลอดจนต้องให้ผู้เลี้ยงมองเห็นความปลอดภัยต่อสุขภาพตนเองและครอบครัว ค่าชดเชยราคาสัตว์ (70-100%) ที่ต้องทำลาย อาจเหมาะกับสัตว์ปีกที่เลี้ยงเพื่อจำหน่ายเป็นการค้า แต่สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองไก่ชน ที่มีคุณค่าทางใจมีความรักผูกพันเจ้าของสัตว์จึงไม่ยินยอมร่วมมือในการทำลายเพราะทำใจไม่ได้
ตามหลักพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การดับทุกข์ต้องระงับเหตุของการเกิดทุกข์ จึงควรนำหลักธรรมของพระองค์มาใช้แก้ปัญหาโรคไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก (ไข้หวัดนก) เพราะเหตุที่มาของโรคเป็นตัวปัญหาสำคัญ
ถ้าเหตุมาจากการระบาดตามธรรมชาติติดมาจากนกอพยพ ก็ต้องวางแผนใช้วิธีเฝ้าระวังนกอพยพที่เป็นพาหะนำโรคเข้ามาตามฤดูกาล บริเวณใกล้แหล่งหากินของนกอพยพที่เคยเกิดโรค ก็ต้องระมัดระวังการเลี้ยงสัตว์ปีกบริเวณนั้นเป็นพิเศษ เมื่อถึงฤดูกาลที่เคยเกิดโรคระบาด ไม่ควรเลี้ยงจำนวน มากๆ เป็นฟาร์มเพื่อการค้า เป็ดไก่พื้นบ้านที่เลี้ยงปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ อาจติดโรคป่วยตายบ้างก็จะช่วยส่งสัญญาณให้เห็นว่าเกิดโรคระบาดขึ้น ตัวที่ไม่ป่วยตายเพราะมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต้องมีแน่ ตายหมดไม่เหลือเลยเป็นไปไม่ได้ เพราะหลักการสมดุลย์ของธรรมชาติ (Balance of Nature) ถ้าสัตว์ปีกตายหมด ไวรัสก็ตายไปหมดด้วยเช่นกัน
ถ้าเหตุเกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีก โดยการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์หรือไข่พันธุ์และเร่งเพิ่มผลผลิต เพื่อการส่งออกจำนวนมากจนสูงเกินขีดความสมดุลย์ของทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศและเกินขีดความสามารถ การบริหารการจัดการฟาร์ม ก็ต้องแก้ไขด้วยการควบคุมคุณภาพการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์หรือวัสดุที่ใช้เลี้ยงอย่างเข้มงวด และต้องควบคุมปริมาณผลผลิตให้อยู่ในจำนวนที่พอเหมาะ ในพื้นที่อันสมควรอย่างถูกสุขลักษณะ เรื่องนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วทราบดีว่ามีต้นทุนที่สูงมากในการเลี้ยงสัตว์ด้วยตนเอง จึงส่งให้ประเทศที่กำลังพัฒนานำไปเลี้ยงแล้วคอยซื้อกลับไปบริโภค เพราะราคาถูกกว่าคุ้มค่ากว่าต้องมาแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ตามมาภายหลัง นอกจากนี้ประเทศที่พัฒนายังออกกฎระเบียบให้ตรวจสุขภาพสัตว์และคุณภาพเนื้อด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย (ราคาแพง) ซึ่งประเทศเหล่านั้นเป็นผู้ผลิตได้และจำหน่ายให้กับประเทศกำลังพัฒนาใช้ตรวจ มิฉะนั้นประเทศเหล่านั้นก็จะกีดกั้นการค้าทันที ดังนั้นถ้าพิจารณาให้รอบคอบการเลี้ยงสัตว์ปีกเพื่อส่งออกนั้นได้กำไรคุ้มค่าการลงทุนมากน้อยเพียงใด น่าจะเปิดเผยรายละเอียดให้ชัดเจนรวมทั้งพิจารณาผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมด้วย
ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับไข้หวัดนกที่เป็นข่าวบ่อยครั้ง ทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยและความหวาดระแวงคือ เรื่องไวรัสอาจกลายพันธุ์ ทำให้โรคระบาดรุนแรงมากขึ้น ถึงแม้มีการศึกษารหัสพันธุกรรมของไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก (ไข้หวัดนก) กันอย่างกว้างขวาง และผลที่ออกมาแสดงว่าไวรัสบางชนิด บางสายพันธุ์ มีรหัสพันธุกรรมเปลี่ยนไป ก็ไม่ได้มีการยืนยันเป็นวิทยาศาสตร์ว่าเป็นการเปลี่ยนไปจนส่งผลให้เลวร้ายหรือรุนแรงมากขึ้น แต่ที่ค่อนข้างแน่ชัดคือหลักฐานของเหตุการณ์โรคไวรัสระบาดที่เกิดขึ้นในอดีต ก็ยังไม่มีรายงานโรคไข้หวัดใหญ่ (ไข้หวัดนก) หรือโรคไวรัสที่เกิดขึ้นมาแล้วเกิดการกลายพันธุ์ ทำให้เกิดโรคระบาดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มีแต่รุนแรงน้อยลงหรือหายสาปสูญไป สิ่งที่สำคัญคือมนุษย์ไม่ควรไปทำลายความสมดุลย์ของธรรมชาติ จนทำให้จุลชีพหรือไวรัสต้องดิ้นรนหาที่อาศัยในสิ่งที่มีชีวิตแหล่งใหม่เพื่อการอยู่รอดต่อไป
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพ" ไข้หวัดนก (Bird Flu) " โรคไข้หวัดนก หรือ Avian Influenzaเป็นโรคระบาดในสัตว์ปีกโดยเฉพาะไก่ และเป็นการแพร่เชี้อจากสัตว์ปีกมาสู่คน
สาเหตุ
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นชนิด และสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคเฉพาะสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ นก ฯลฯ ติดต่อกันในสัตว์โดยการหายใจระยะฟักตัว ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนเกิดอาการประมาณ 1-3 วัน
อาการ
คล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่จะรุนแรงกว่า คือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศรีษะรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อทั้งตัว อ่อนเพลียมาก ไอมาก เจ็บคอน้ำมูกไหล หายใจลำบาก อาจมีอาการอื่นแทรกซ้อน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปวดบวม เป็นต้น
การติดต่อมาสู่คน
โดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของสัตว์ปีกที่ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ แต่ยังไม่พบการติดต่อจายคนไปสู่คน หรือจากการรับประทานเนื้อสัตว์ ไข่ที่ปรุงสุกแล้ว
การรักษา
หากมีอาการอยู่ในข่ายที่สงสัย โปรดไปพบแพทย์ พร้อมให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทาง และการสัมผัสสัตว์ปีก
การป้องกัน
ควรปฏิบัติตนเช่นเดียวกับการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนี้
รักษาสุขภาพของร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้สุขภาพเสื่อม เช่น สุรา ยาเสพติดต่างๆ รวมถึงการเที่ยวที่อาจทำให้เกิดการติดโรค
ทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด เช่น โรงมหรสพ ห้องสรรพสินค้า
หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย เวลาไอหรือจาม ต้องปิดปากหรือจมูกทุกครั้ง
ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม
เมื่อเจ็บป่วย ต้องผักผ่อน และดื่มน้ำอุ่นมากๆ
หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วย หรือสารคัดหลั่งของสัตว์ที่ป่วยโดยตรง ให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น ผ้าปิดจมูก ถุงมือแว่นตา รองเท้าบู๊ท และต้องหมั่นล้างมือบ่อยๆ ชำระร่างกายให้สะอาดทุกครั้งภายหลังจากการจับสัตว์ทุกชนิด
การกำจัดซากสัตว์ที่ป่วยตาย
ต้องขุดหลุมลึกอย่างน้อย 3 เมตร โรยปูนขาวที่ก้นหลุม แล้วจึงฝังซากสัตว์ และกลบดินให้แน่น เพื่อป้องกันสัตว์ไปขุดคุ้ย


ที่มา : การประชุมสมาชิกสัตวแพทยสมาคมฯ
10 พฤศจิกายน 2547
โรงแรมโซฟิเทลพลาซ่า กรุงเทพฯ

ตอบข้อสงสัยเรื่อง “ ไข้หวัดนก ”

1. ถาม เนื้อไก่และไข่ที่ขายอยู่ตามท้องตลาดขณะนี้ปลอดภัยเพียงใด
ตอบ ควรเลือกซื้อเนื้อไก่สดที่ไม่มีเนื้อสีคล้ำหรือมีจุดเลือดออกหรือจุดเนื้อตายสีขาวที่เครื่องใน
สำหรับไข่ควรเลือกฟองที่ดูสดใหม่ไม่มีมูลไก่ติดเปื้อนที่เปลือกไข่ และก่อนปรุงควรล้างให้สะอาดหรือเลือกซื้อจากร้ายที่มีใบรับรองจากกรมปศุสัตว์
2. ถาม เมื่อต้องจับเนื้อไก่หรือไข่จะทำอย่างไรให้ปลอดภัย
ตอบ เมื่อต้องจับเนื้อสัตว์เครื่องในสัตว์และเปลือกไข่ควรสวมถุงมือหรือถุงพลาสติกไม่ใช้มือเปื้อน มาจับต้องอาหาร จมูก ตา และปาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หลังจากนั้นรีบล้างมือให้สะอาด
3. ถาม เมื่อเตรียมอาหารที่มีเนื้อไก่ ต้องทำอย่างไร
ตอบ ควรแยกเขียงและมีดสำหรับหั่นเนื้อไก่ และเขียงสำหรับหั่นอาหารปรุงสุกแล้ว หรือผักผลไม้ เมื่อหั่นอาหารเสร็จ ควรล้างมือรวมทั้งภาชนะและอุปกรณ์ที่ใช้ให้สะอาด
4. ถาม ดูแลบ้านเรือนอย่างไรให้ปลอดภัยจากไข้หวัดนก
ตอบ ควรทำความสะอาดบ้านกำจัดเศษอาหารมูลสัตว์ต่างๆ และป้องกันสัตว์ที่จะเป็นพาหะนำโรค เช่น นก ไม่ให้เข้าในบ้าน สำหรับผู้ที่เลี้ยงไก่ตามบ้านไม่ควรเลี้ยงใต้ถุนบ้าน ให้แยกพื้นที่เลี้ยงเป็นสัดส่วน เช่น มีรั้ว หรือตาข่ายกั้นจากที่อยู่อาศัย
5. ถาม หากสัมผัสกับไก่หรือนก จะทำอย่างไร
ตอบ ต้องล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งหลังจับต้องสัตว์
6. ถาม ไก่ป่วยเป็นไข้หวัดนกมีอาการอย่างไร
ตอบ ไก่ที่ป่วยจะมีอาการหงอย ซึม ขนยุ่ง หงอนเหนียงบวม มีสีคล้ำ มีจุดเลือดออกที่หน้าแข้ง มีน้ำมูกหรือขี้ไหลไข่ลดลง ในเป็ดห่านจะทนโรคมากกว่าไก่ บางครั้งจะแสดงอาการป่วยไม่ชัดเจน ไก่ชนก็มีความทนทานต่อโรคเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงห้ามดูดเสมหะให้ไก่ชนอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นการเสี่ยงต่อการติดโรคอย่างยิ่ง
7. ถาม ประชาชนจะป้องกันการติดเชื้อจากไหวัดนกได้อย่างไร
ตอบ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด และครบทั้ง 5 หมู่ งดสูบบุหรี่และสุรา นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกายอย่าง สม่ำเสมอ และรักษาความสะอาดของบ้านเรือน หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก โดยเฉพาะที่มีอาการป่วยหรือตาย หากจำเป็นต้องสัมผัสให้สวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ และล้างมือทุกครั้งด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด หากมีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น เจ็บคอ ไอ ต้องรีบพบแพทย์ทันที และแจ้งด้วยว่าสัมผัสสัตว์ปีกมา
8. ถาม ผู้ใดบ้างที่เสี่ยงต่อการติดโรค
ตอบ ผู้เลี้ยง ผู้เชือดหรือชำแหละ ผู้ขนส่ง – ขนย้าย ผู้ขายไก่เป็น ผู้ทำลายซากสัตว์ หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด
9. ถาม ผู้ที่น่าสงสัยว่าเป็นไข้หวัดนก มีอาการอย่างไร
ตอบ มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ และคัดจมูกหรือตาแดง พร้อมทั้งมีประวัติคลุกคลีใกล้ชิดกับสัตว์ปีกภายใน 7 วัน หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีก ป่วยตายมากผิดปกติ หรือมีการระบาดของไข้หวัดนก
10. ถาม จะทำอย่างไรกับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่อาจปนเปื้อนเชื้อไข้หวัดนก
ตอบ แช่เสื้อผ้าทุกชิ้นด้วยน้ำยาฟอกขาว( ไฮเตอร์ 1 ส่วน น้ำ 9 ส่วน ) นาน 30 นาที แล้วทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกอีกครั้ง จากนั้นตากแดดให้แห้ง

แหล่งข้อมูล : กรมควบคุมโรค