1. มีนาคม 2401 ประกาศเรื่องออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา

                     “ ราชกิจจานุเบกษา” เป็นชื่อสิ่งพิมพ์รัฐบาล ซึ่งเดิมเรียกชื่อว่า “หนังสือราชกิจจานุเบกษา” แปลว่า “หนังสือเป็นที่เพ่งดูราชกิจ” เป็นนามพระราชทานโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อวันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีมะเมีย นพศกตรง กับวันที่ 15 มีนาคม 2401 นับถึงเวลานี้ (พ.ศ.2522) ได้ 121 ปีแล้ว ในที่นี้จำขอนำเรื่องราวมาให้ทราบดังนี้

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพน์ไว้ว่า

                     “….ประเพณีประกาศพระราชกฤษฎีกาแต่โบราณ เมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินดำรัสสั่งให้ประกาศกิจการอันใด คือเช่น ตั้งพระราชบัญญัติ เป็นต้น    : โดยปกติมักดำรัสสั่งให้อาลักษณ์เป็นพนักงานเรียบเรียงข้อความที่จะประกาศลงเป็นหนังสือบางทีดำรัสให้ผู้อื่นรับพระราชโรง การมาสั่งอาลักษณ์ให้เรียบเรียงประกาศก็มีผู้รับสั่งมักเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งจะต้องอำนวยการที่ประกาศ แต่ที่มิใช่เป็นเจ้าหน้าที่ เป็นแต่ข้าเฝ้าคนใดคนหนึ่ง ดำรัสใช้ตามสะดวกพระราชหฤทัยก้มีลักษณะที่อาลักษณ์เรียบเรียงประกาศนั้น ตั้งข้อความเป็นหลัก 5 อย่างคือ

    1. วันเดือนปีที่สั่ง
    2. นามผู้สั่ง ถ้าพระเจ้าแผ่นดินดำรัสสั่งเองก็อ้างแต่ว่ามีพระราชโองการ ถ้ามีผู้อื่นมาสั่งก็อ้างนามผู้นั้นรับพระราชโองการ
    3. กล่าวถึงคดีอันเป็นมูลเหตุแห่งประกาศนั้น
    4. พระราชวินิจฉัย
    5. ข้อบัญญัติพระราชนิยมที่ให้ประกาศ

                    เมื่ออาลักษณ์ร่างเสร็จแล้วคงนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายทรงตรวจแก้ก่อนจึงประกาศ แต่ข้อนี้ห้าได้กล่าวไว้ให้ ปรากฏไม่ ลักษณะที่ประกาศนั้น แต่โบราณเป็นหน้าที่กรมพระสุรัสวดี โดยเป็นผู้ถือบาญชีกระทรวงทบวงการทั้งปวง ที่จะคำสำเนาประกาศแจกจ่ายไปยังกรมต่าง ๆ ทุกกรม ส่วนหัวเมืองทั้งปวงนั้น เมื่อมหาดไทยกลาโหมกรมท่า อันเป้นเจ้ากระทรวงบังคับบัญชาหัวเมืองได้รับประกาศจากกรมพระสุรัสวดีก็คัดสำเนาส่งไปยังหัวเมืองอันขึ้นอยู่ในกรมนั้น ๆ อีกชั้น 1 ลักษณะการที่จะประกาศให้ราษฎรทราบพระราชกฤษฎีกานั้น ประเพณีเดิมในกรุงเทพฯ กรมเมืองให้นายอำเภอเป็นเจ้าพนักงาน ไปเที่ยวอ่านประกาศตามตำบลที่ประชุม ส่วนหัวเมืองทั้งปวง เจ้าเมืองกรมการให้กำนันเป็นพนักงานอ่านประกาศเมื่อ พนักงานจะอ่านประกาศที่ตำบลไหน ให้ตีฆ้องเป็นสัญญาเรียกราษฎรมาประชุมกันแล้วอ่านประกาศให้ฟัง ณ ที่นั้น วิธีประกาศเช่นว่ามานี้จึงเรียกกันเป็นสามัญว่า “ตีฆ้องร้องป่าว” ส่วนต้นฉบับประกาศพระ ราชกฤษฎีกาทั้งปวงนั้น อาลักษณ์รักษาไว้ในหอหลวงฉบับ 1 คัดส่งไปรักษาไว้ที่ศาลาลูกชุนอันเป็นที่ประชุมเสนาบดีฉบับ 1 แลส่งไปรักษาไว้ที่ศาลหลวงอันเป็นที่ประชุมผู้พิพากษาด้วยอีกฉบับ 1 ประเพณีเดิมมีลักษณะดังว่ามานี้

                    หนังสือประกาศชั้นเดิม ต้นร่างแลสำเนามักเขียนในสมุดดำด้วยเส้นดินสอขาว ส่วนตัวประกาศที่ส่งไป ณ ที่ต่าง ๆ มักใช้เขียนลงม้วนกระดาษข่อยด้วยดินสอดำ เพราะวิธีตีพิมพ์หนังสือไทยยังไม่เกิดขึ้นในขั้นนั้น มาจนในรัชกาลที่ 3 พวกมิชชั่นนารีอเมริกันตั้งโรงพิมพ์หนังสือไทยขึ้น ความปรากฏว่า เมื่อปีกุน พ.ศ. 2382 พระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรด ให้โรงพิมพ์โรงพิมพ์หมายประกาศห้ามมิให้คนสูบฝิ่นแลค้าขายฝิ่นเป็นหนังสือ 9,000 ฉบับ นับเป็นครั้งแรกที่ได้พิมพ์หมายประกาศ แต่พิมพ์ครั้งนั้น แล้วมิได้ปรากฏว่าพิมพ์ประกาศเรื่องอื่นต่อมาอีก ถึงรัชกาลที่ 4 ในชั้นแรกประกาศต่าง ๆ ก็ยังใช้เขียนแจกตามแบบเดิม ปรากฏแต่ว่าทรงแก้ไขวิธีแจกประกาศ ซึ่งแต่เดิมกรมพระสุรัสวดีเป็นพนักงานเขียนประกาศแจกจ่ายไปตามกระทรวงทบวงการต่าง ๆ นั้นโปรด ฯ ให้กรมต่าง ๆ ไปคัดสำเนาหมายประกาศเอง ณ หอหลวงยังคงส่งสำเนาประกาศไปแต่ที่มหาดไทย กลาโหมแลกรมท่า สำหรับจะได้มีท้องตามประกาศออกไปตามหัวเมืองการที่แก้ไขชั้นนี้ก็พอเห็นเหตุใด คงเป็นเพราะการเขียนประกาศแจกจ่ายมาแต่ก่อนเป็นการมากมายเหลือกำลังพลังงานกรมพระสุรัสวดี แจกไปไม่ทั่วถึงทุกกระทรวงทบวงการได้จริงดังที่กล่าว ในลักษณะประกาศ จึงได้โปรด ฯ ให้กรมอื่น ๆ ไปคัดประกาศเอาเอง ณ หอหลวง ต่อมาในรัชกาลที่ 4 นั้น โปรด ฯ ให้สร้างโรงพิมพ์หลวงขึ้นที่ในพระบรมม หาราชวังขนานนามว่าโรงอักษรพิมพการ(อยู่ตรงพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญบัดนี้) เริ่มพิมพ์หมายประกาศเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2401 ในชั้นต้นโปรดเกล้า ฯ ให้ทำเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวออกโดยระยะเวลา ขนานนามว่าหนังสือราชกิจจานุเบกษา บอกว่าในราชสำนักแลเก็บความจากประกาศต่าง ๆ ซึ่งได้ออกในระยะ นั้นบอกไว้ให้ทราบเพียงเนื้อความ หนังสือราชกิจจานุเบกษา ซึ่งออกในรัชกาลที่ 4 ครั้นนั้น พิเคราะห์ดูเรื่องที่พิมพ์เป็นพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยมากเห็นไม่มีผู้อื่นกล้ารับผิดชอบเป็นผู้แต่ง ครั้นต่อมาทรงติดพระราชภารกิจอื่นมากขึ้น ไม่มีเวลาพอจะทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ราชกิจจานุเบกษา เพราะฉะนั้นพิมพ์อยู่ได้สักปี 1 จึงต้องหยุด แต่การที่พิมพ์หมายประกาศเห็นจะนิยมกันมาก เมื่อหยุดหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงโปรด ฯ ให้พิมพ์แต่หมายประกาศแลให้พิมพ์ตลอดเรื่องไม่คัดแต่เนื้อความเหมือน อย่างที่ลงพิมพ์ในหนังสือราชกิจจานุเบกษามาแต่ก่อนทำเป็นใบปลิวแจกตามกระทรวงทบวงการ แลจ่ายไปปิดไว้ตามที่ประชุมชนแทนป่าวร้องเป็นประเพณีสืบมาจนรัชการที่ 5 จนกลับออกหนังสือราชกิจจานุเบกษาอีก เมื่อปี พ.ศ. 2417 แต่นั้นบรรดาประกาศ จึงใช้ลงในหนังสือราชกิจจากนุเบกษา แลเลิกวิธีแจกจ่ายหมายประกาศอย่างแต่ก่อนสืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้….”

                    “ราชกิจจานุเบกษา” เกิดขึ้นได้ก็ด้วยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กรมพระอาลักษณ์จารึกไว้ใน “ประกาศเรื่องออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา” ดังต่อไปนี้ :-

“ 102 ประกาศเรื่องออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา

                    ณ วันจันทร์ เดือน 5 ขึ้นค่ำ 1 ปีมะเมียยังเป็นนพศก

                    พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎสุทธสมมตเทพยพงศ์ วงศาดิศวรกษัตริย วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตรพระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม   ทรงพระราชดำริห์ตริตรองในการจะทำนุบำรุงแผ่นดินให้เรียบร้อยสำเร็จ ประโยชน์ทั่วถึ่งแลแน่นอนให้ดีขึ้นไปกว่าแต่ก่อน   จึงทรงพระราชวิตกว่าราชการต่าง ๆ ซึ่งสั่งด้วยบัตรหมายแต่กรมวังให้สัสดีแลทลวงฟันเดินบอก ตามหมู่ตามกรมต่าง ๆ นั้นก็ดี  การที่บังคับนายอำเภอมีหมายป่าวประกาศแก่ราษฎรในกรุงก็ดี การที่มีท้องตราไปให้เจ้าเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ    มีหมายให้กำนันรั้วแขวงอำเภอประกาศแก่ราษฎรในแขวงนั้น ๆ ก็ดี พระราชบัญญัติใหม่ ๆ  ตั้งขึ้นเพื่อจะห้ามการที่มิควรแลบังคับการที่ควรก็ดี การเตือนสติ ให้รฤกแลถือ พระราชกำหนดกฎหมายเก่าก็ดีตั้งขึ้นแลเลิกทั้งอากรภาษีต่าง ๆ และพิกัดภาษีนั้น ๆ  แลลดหย่อนลงหรือเพิ่มขึ้นพิกัดของในภาษีนั้น ๆ ก็ดีการกะเกณฑ์ หรือขอแรงแลบอกบุญก็ดี ว่าโดยสั้นโดยย่อเหตุใด ๆ การใด ๆ ที่ควรข้าราชการทั้งปวง หรือราษฎรทั้งปวงจะพึงทราบทั่วกันนั้น แต่ก่อนเป็นบัตรหมายแลทำคำประกาศเขียนเส้นดินสอดำลงกระดาษส่งกันไปส่งกันมาแลให้ลอกต่อกันไป ผิด ๆ ถูก ๆ และเพราะฉบับหนังสือนั้นน้อย ผู้ที่จะได้อ่านก็น้อยไม่ทั่วถึงกันว่า   การพระราชประสงค์แลประสงค์ของผู้ใหญ่ใน แผ่นดินจะบังคับมาแลตกลงประการใด  ข้าราชการทั้งปวงและราษฎรทั่งปวงก็ไม่ทราบทั่วกัน   ได้ยินแต่ว่ามีหมายว่าเกณฑ์ว่า ประกาศว่าบังคมมาเมื่อการนั้นเกี่ยวข้องกับตัวใครก็เป็นแต่ถามกันต่อไป ผู้ที่จะได้อ่านต้นหมายท้องตรานั้นน้อยตัว ถึงจะได้อ่านก็ไม่เข้าใจเพราะราษฎร เมืองไทยผู้ที่รู้หนังสือนั้นน้อยกว่าที่ไม่รู้ คนไพร่ในประเทศบ้านนอกหนังสือก็อ่านไม่ออก  ดวงตาของขุนนางในตำแหน่งซึ่งจะบังคับราชการเรื่องไร จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้จัก ดูสักแต่ว่าเห็นดวงตราที่ตีมาด้วยชาดแลเส้นแดง ๆ แล้วก็กลัวผู้ที่มาว่ากระไรก็เชื่อ เพราะฉะนั้นจึงมีคนโกง ๆ คด ๆ แต่งหนังสือ เป็นดังท้องตราบัตรหมายอ้างสั่งวังหลวงแลวังหน้าแลเจ้านายแลเสนาบดีที่เป็นราษฎรนับถือยำเยงแล้ว ก็ว่าการบังคับไปต่าง ๆ  ตามใจตัวปรารถนา ด้วยการที่มีได้เป็นธรรม แลทำให้ราษฎรเดือนร้อนแลเสียพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน และพระนามเจ้านายแลชื่อขุนนางไป เพราะฉะนั้นบัดนี้   ทรงพระราชดำริห์จะบำบัดโทษต่าง ๆ ดังว่ามาแล้วนี้ทุกประการ จึงโปรดให้ตั้งการตีพิมพ์หนังสืออย่างหนึ่ง มีชื่อโดยภาษาสังสฤกตว่าหนังสือราชกิจจากนุเบกษา แปลว่าหนังสือเป็นที่เพ่งดูราชกิจ มีตราเป็นรูปพระมหามงกุฎ แลฉัตรกระหนาบสองข้างดวงใหญ่ ตีในเส้นดำกับตัวหนังสือนำหน้าเป็นตัวอักษรตัวว่า ราชกิจจานุเบกษา อยู่เบื้องบนบันทัดทุกฉบับเป็นสำคัญ แจกมาแก่คนต่าง ๆ ที่ควรจะรู้ทุกเดือนทุกปักษ์ ตั้งแต่เดือนห้าปีมะเมียเป็นปีที่แปดในรัชกาลอันเป็นปัจจุบันนั้นไปหนังสือ ราชกิจจานุเบกษา  คือการใด ๆ ซึ่งได้มีท้องบัตรใบตราและบัตรหมาย และประกาศด้วยหนังสือเขียนเส้นดินสอดำ ประทับตราตามตำแหน่งตามธรรมเนียมเก่านั้น ซึ่งได้มีแล้วไปในปักษ์นั้น หรือปักษ์ที่ล่วงแล้วในเดือนนั้น หรือเดือนที่ล่วงแล้ว ก็จะเก็บเอาความมาว่าแต่ย่อ ๆ ในสิ่งซึ่งเป็นสำคัญ เพื่อจะให้เป็นพยานแก่ท้องบัตรใบตราแลบัตรหมายคำประกาศ ซึ่งมีไปแล้วก่อนนั้น เพื่อจะให้คนที่ได้อ่านหนังสือก่อนเชื่อแท้แน่ใจไม่สงสัย ที่ไม่เข้าใจความจะได้เข้าใจ ผู้ใดไม่รู้ความในหนังสือท้องบัตรในตราบัตรหมายก่อนก็จะ ได้รู้ถนัด

                    อนึ่งถ้าเหตุและการในราชการแผ่นดินประการใด ๆ เกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน แลเสนาบดีพร้อมกันบังคับไปอย่างไร บางทีก็จะเล่าความนั้น ใส่มาในราชกิจจานุเบกษานี้บ้าง เพื่อจะให้รู้ทั่วกันมิให้เล่าฦาผิด ๆ ไปต่าง ๆ ขาด ๆ เกิน ๆ เป็นเหตุให้เสียราชการแลเสียพระเกียรติยศแผ่นดินได้

                    หนังสือราชกิจจานุเบกษานี้เมื่อตกไปอยู่กับผู้ใดขอให้เก็บไว้อย่าให้ฉีกทำลายล้างเสีย เมื่อได้ฉบับอื่นต่อไปก็ให้เย็บต่อ ๆ เข้าไปเป็นสมุดเหมือนสมุด จีนสมุดฝรั่งตามลำดับตัวเลขที่หมายหนึ่ง สอง สาม สี่ ต่าง ๆ ไป ซึ่งอยู่ทุกหน้ากระดาษนั้นเกิดขอให้มีหนังสือราชกิจจานุเบกษานี้เก็บไว้สำหรับจะได้ค้นดูข้อราชการต่าง ๆ ทุกหมุ่ทุกกรมข้าราชการ แลทุกหัวเมืองโดยประกาศนี้ เทอญ.